นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ปลัด สธ.เผย WHO จัดโอมิครอน XBB.1.16 ต้องติดตาม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมการติดตามสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ทางกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ที่มีประชาชนออกมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญ เพราะการติดเชื้อก่อนหน้านี้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก และด้วยเป็นโรคประจำถิ่น ก็จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามช่วงของการระบาด

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมสงกรานต์ ก็ขอให้อยู่ห่างจากกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และหากมีอาการป่วย ก็ให้ตรวจ ATK

นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดทั้ง 12 เขตสุขภาพ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจสะสมมีไม่ถึง 20 ราย และสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะที่ สายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดในไทย ขณะนี้ยังเป็นลูกผสมโอมิครอน XBB.1.5 ส่วนลูกผสม XBB.1.16 ที่มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อในไทย ซึ่งภาพรวมยังเป็นโอมิครอนอยู่ ส่วนการกลายพันธุ์ก็เป็นไปตามธรรมชาติ

โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ต้องกังวล เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลในแง่ว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการติดเชื้อง่ายขึ้นหรือหลบภูมิคุ้มกันนั้น ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการได้ระบุว่า อาจติดได้ง่ายขึ้นแต่ไม่มีนัยสำคัญในภาพรวม ดังนั้นการดูสถานการณ์ต้องดูสายพันธุ์ อาการทางคลินิก และข้อมูลระบาดวิทยา ไม่สามารถดูข้อมูลด้านเดียวได้

ปลัด สธ. ได้กล่าวอีกว่า ส่วนความกังวลเรื่องยาต้านไวรัส ต้องย้ำว่า หากมีอาการรุนแรง ยาต้านไวรัสยังใช้ได้ดี ทั้งฟาวิพิราเวียร์ เรมเดสซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด รวมถึงภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ซึ่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 ได้มีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ ได้ให้คำแนะนำเรื่องการให้ยาต้านไวรัส ในกลุ่มอาการน้อยไม่ต้องกินยา ส่วนกลุ่มที่มีอาการมากก็ให้ใช้ยาต้านไวรัสได้ ซึ่งในตอนนี้มียาเพียงพอสำหรับการรักษา เช่น โมลนูพิราเวียร์มีสำรองกว่าล้านเม็ด แพกซ์โลวิดสำรองมากกว่าหมื่นคอร์ส เรมเดสซิเวียร์มีมากกว่าแสนโดส

โอมิครอน XBB.1.16

“ขณะที่ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ประชุมวันนี้มีความเห็นว่า จะให้ฉีดเป็นวัคซีนประจำปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การจัดการจะเหมือนโรคประจำถิ่น อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะมีการรณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยจะเน้นในกลุ่มเสี่ยง คือ บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่ม 608 ซึ่งการฉีด 2 วัคซีน ก็จะป้องกันได้ทั้ง 2 โรค ที่มีอาการคล้ายกัน เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัด เมื่อมาตรวจก็พบว่า ร้อยละ 15 เป็นไข้หวัดใหญ่ มีเพียงร้อยละ 3 ที่เป็นโควิด-19 โดยในบ่ายวันนี้ ทางแพทยสภาจะมีการสื่อสารกับแพทย์ทั่วประเทศ ให้รับทราบข้อมูลที่ตรงกัน เพราะพบว่าข้อมูลในโซเชียลมีความถูกต้องเพียงครึ่งเดียว จากนั้นก็จะสื่อสารไปยังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยขณะนี้เราต้องระวัง ไม่ใช่สบายใจมากเกินไป แต่ถ้าตื่นตระหนกเกินไปก็อยู่ยาก” นพ.โอภาสกล่าว

จากการสอบถามถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะต้องฉีดอย่างไร นพ.โอภาสได้กล่าวว่า สำหรับฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะฉีดช่วงก่อนฤดูฝน ส่วนวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน หรือหลังจากหายติดเชื้อแล้ว 3 เดือน

เมื่อถามว่า โรงเรียนแพทย์บางแห่งระบุว่า อาจไม่ได้ใช้ยาบางชนิดในการรักษา นพ.โอภาสกล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ทางโรงเรียนแพทย์ดังกล่าวได้ชี้แจงว่า อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการสื่อสารภายในและมีเอกสารทั้ง 2 ฉบับ โดยทาง สธ. ยืนยันว่า ยายังมีความเพียงพอสำหรับการรักษา

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ anenglishrosegarden.com

แทงบอล

Releated